google-site-verification: googleb7f6cb2897a693e4.html BuddhaMetta ทาน ศิล สมาธิภาวนา สร้างสมบุญกุศลบารมี นิพพาน
ReadyPlanet.com
dot
dot
ธรรมะ/บทความ
dot
bulletอุทิศบุญกุศล แผ่เมตตา
bulletการสร้างบุญบารมี
bulletสมาธิ ภาวนา
dot
ฝากที่อยู่ไว้ เราจะติดต่อ,ส่งข้อมูลกลับ

dot
dot
วัดอรุณราชวราราม
dot
bulletศาลาปฏิบัติธรรม
dot
วัดหนองไคร้
dot
bulletสมทบทุนสร้างพระเจดีย์พุทธเมตตามหามงคล
bulletเสียงบรรยายธรรม หลวงปู่ประสาร สุมโน
bulletถวายพระพรในหลวง


ความรู้เกี่ยวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงค์
ข้อมูลพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม
ฐานข้อมูล ชีวิต และผลงานท่านพุทธทาสภิกขุ
นานาสาระ


การสร้างบุญบารมี

 

การสร้างบุญบารมี (ย่อ)
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
 
การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้น จะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ ๓ ประการ ถ้าประกอบถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ
                องค์ประกอบข้อที่ ๑. "วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์"
        วัตถุทานที่ให้ ได้แก่สิ่งของทรัพย์สมบัติที่ตนได้สละให้เป็นทานนั้นเอง จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนเองได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น
องค์ประกอบข้อที่ ๒. "เจตนาในการสร้างทานต้องบริสุทธิ์"
        การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่นความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ "โลภกิเลส" และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วย เมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตา พรหมวิหารธรรมในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว เรียกว่าเจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น ถ้าจะบริสุทธิ์จริงจะต้องสมบูรณ์พร้อมกัน ๓ ระยะ คือ
        (๑) ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะทานก็จะมีจิตที่โสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สิ่งของของตน
        (๒) ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังมือให้ทานอยู่นั้นเอง ก็ทำด้วยจิตใจโสมนัสร่าเริงยินดีและเบิกบานในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
        (๓) ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตใจโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้น ๆ
        องค์ประกอบข้อที่ ๓. "เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์"
        คำว่า "เนื้อนาบุญ" ในที่นี่ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทานนั้นเอง นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้ว กล่าวคือวัตถุที่ทำทานนั้นเป็นของที่แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะ แต่ตัวผู้ที่ได้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้นก็ไม่ผลิดอกออกผล ฉะนั้นในการทำทาน ตัวบุคคลผู้รับของที่เราให้ทานจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด คนที่รับการให้ทานนั้นหากเป็นผู้ที่มีศีลธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็เกิดผลบุญมาก
        สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ
        ๑. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี
        ๒. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๓. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล ๘ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๔. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้มีศีล ๑๐ คือสามเณรในพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๕. ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ
        พระด้วยกันก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น"พระ" แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า "สมมุติสงฆ์" พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุคุณธรรมตั้งแต่พระโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น "พระ" ทั้งสิ้น และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้คือ "พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธมเจ้า" และย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
        ๖. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่ - พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม (ความจริงยังมีการแยกเป็นพระโสดาปัตติมรรคและพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อพอให้ได้ความเท่านั้น)
        ๗. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๘. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๙. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๑๐. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๑๑. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแด่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๑๒. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะถวายสังฆทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๑๓. การถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า "การถวายวิหารทาน" แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม "วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน" อนึ่ง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งที่ประชาชนใประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น "โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ" ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน
        ๑๔. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง (๑๐๐ หลัง ) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "ธรรมทาน" แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม "การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้รู้ได้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ"
        ๑๕. การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "อภัยทาน"แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานก็คือ "การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู" ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อ "ละโทสะกิเลส" และเป็นการเจริญ "เมตตาพรหมวิหารธรรม" อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง "พยาบาท" ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง
        อย่างไรก็ดี การให้อภัยทานแม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่น ๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า "ฝ่ายศีล" เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน
        "ศีล" นั้นแปลว่า "ปกติ" คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ ศีลนั้นมีหลายระดับคือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ และในบรรดาศีลชนิดเดียวกันก็ยังจัดแบ่งออกเป็นระดับธรรมดา มัชฌิมศีล (ศีลระดับกลาง) และอธิศีล (ศีลอย่างสูง ศีลอย่างอุกฤษฏ์)
        ๑. การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๕ แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๒. การถือศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๘ แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม
        ๓. การถือศีล ๘แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๑๐ คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
        ๔. การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้ว รักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาที่มี ศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
       การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น มี ๒ อย่างคือ "สมถภาวนา (การทำสมาธิ)"และ "วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา)" อธิบายโดยย่อคือ "แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่าวพร้อยมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู" คำว่า "จิตสงบ" ในที่นี้หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า "ขนิกสมาธิ" แล้วบังเอิญตายลงในขณะนั้น อานิสงส์นี้จะส่งผลให้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นที่ ๑ คือชั้นจาตุมหาราชิกา หากจิตยึดไตรสรณคมน์ มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันสูงสุดด้วย ก็เป็นเทวดาชั้นที่ ๒ คือ ดาวดึงส์
        สมาธินั้นมีหลายขั้นตอน ระยะก่อนที่จะเป็นฌาน(อัปปนาสมาธิ) ก็คือขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ ซึ่งอานิสงส์ส่งให้ไปบังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น แต่ยังไม่ถึงชั้นพรหมโลก สมาธิในระดับอัปปนาสมาธิหรือฌานนั้น มีรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้ไปบังเกิดในพรหมโลกรวม ๒๐ ชั้น แต่จะเป็นชั้นใดย่อมสุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌานที่ได้ (เว้นแต่พรหมโลกชั้นสุทธาวาส คือ ชั้นที่ ๑๒ ถึงชั้นที่ ๑๖ ซึ่งเป็นที่เกิดของพระอนาคามีบุคคลโดยเฉพาะ) รูปฌาน ๑ ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๓ สุดแล้วแต่ความละเอียดประณีตของกำลังฌาน ๑ ส่วนอรูปฌานที่เรียกว่า "เนวสัญญา นาสัญญายตนะ" นั้น ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกชั้นสูงสุด คือชั้นที่ ๒๐ ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัป เรียกกันว่า นิพพานพรหม คือนานเสียจนเกือบหาเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดมิได้ จนเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นนิพพาน
                การทำสมาธิเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุดเพราะไม่ต้องเสียเงินเสียทอง ไม่ได้เหนื่อยยากต้องแบกหามแต่อย่างใด เพียงแต่คอยระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตมิให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ๆ โดยให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น การทำทานเสียอีกยังต้องเสียเงินเสียทอง การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาโรงธรรมยังต้องเสียทรัพย์ และบางทีก็ยังต้องเข้าช่วยแบกหามเหนื่อยกาย แต่ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการทำสมาธิอย่างเทียบกันไม่ได้
 
เราท่านทั้งหลายที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแล้วแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุดก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียวโดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้าเพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพานก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน
 
หมายเหตุ : คัดลอกมาเพียงบางส่วน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้สาระโดยไม่เบื่อการอ่าน






Copyright © 2008-2012 All Rights Reserved. VORAVITCH SINGHANART voravitch@hotmail.com Phone 085-1122-422
ขออานุภาพแห่งองค์พระรัตนตรัย อำนวยให้สาธุชนทุกท่านผู้เข้าชมเวปไซต์ มีสติ มีความคิดและมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ดีงาม มีความเจริญก้าวหน้าในพระธรรมอันสูงสุด ยิ่งยิ่งขึ้นไป วรวิชญ์ สิงหนาท