google-site-verification: googleb7f6cb2897a693e4.html BuddhaMetta ทาน ศิล สมาธิภาวนา สร้างสมบุญกุศลบารมี นิพพาน
ReadyPlanet.com
dot
dot
ธรรมะ/บทความ
dot
bulletอุทิศบุญกุศล แผ่เมตตา
bulletการสร้างบุญบารมี
bulletสมาธิ ภาวนา
dot
ฝากที่อยู่ไว้ เราจะติดต่อ,ส่งข้อมูลกลับ

dot
dot
วัดอรุณราชวราราม
dot
bulletศาลาปฏิบัติธรรม
dot
วัดหนองไคร้
dot
bulletสมทบทุนสร้างพระเจดีย์พุทธเมตตามหามงคล
bulletเสียงบรรยายธรรม หลวงปู่ประสาร สุมโน
bulletถวายพระพรในหลวง


ความรู้เกี่ยวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงค์
ข้อมูลพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม
ฐานข้อมูล ชีวิต และผลงานท่านพุทธทาสภิกขุ
นานาสาระ


หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก article

หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก
วัดป่าหนองไคร้ บ้านหนองทองหลาง ตำบลหนองหิน
อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

"พระอริยเจ้าผู้มีปฏิปทาประดุจม้าศึก"

พระเดชพระคุณหลวงปู่ผั่น ปาเรสโก พระอริยเจ้าผู้มีวิถีชีวิตและปฏิปทาที่ไม่หยุดนิ่งในความเพียรที่จะเสาะแสวงหาที่สงัดวิเวกเปล่าเปลี่ยว อดีตชาติท่านเคยเกิดเป็นคนประเทศฟิลิปปินส์ เป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่สำคัญรูปหนึ่ง เริ่มแรกท่านศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านมีอุบายในการปฏิบัติที่แปลกแต่อุบายนั้นให้ผลในทางบวกเสมอ และมีวิถียาวไกลสามารถบอกวันตายล่วงหน้าได้ถึง ๒ ปี

            ท่านชอบธุดงค์และท่องเที่ยวอยู่ตามถ้ำเป็นส่วนมาก ถ้ำทั่วทุกภาคในประเทศไทยไม่ว่าใกล้หรือไกลท่านได้เข้าไปอาศัยภาวนามาแล้วแทบทั้งนั้นตามบันทึก การเดินทางธุดงค์ของท่านนับได้กว่า ๗๒ ถ้ำ ถ้ำที่ท่านสร้างและอยู่จำพรรษาคือ ถ้ำเอราวัณ อำเภอนากลาง จังหวัดอุดรธานี และถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
ท่านได้รับการยกย่องจากพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ว่า "เป็นพระกรรมฐานม้า" หมายความว่า เหมือนม้าศึกตัวปราดเปรียวฝีเท้าเร็วในเชิงรุกและรับ ท่านมีนิสัยต้องเที่ยวไปเหมือนม้า คือต้องเดินท่องเที่ยวรอนแรมปีนป่ายป่าเขาอาศัยอยู่ตามท้องถ้ำ อาศัยปัญญาเป็นอาวุธในการรุกรบกับกิเลส
            ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๑ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีวอก เวลาใกล้รุ่ง ณ บ้านหนองหิน หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นบุตรของขุนเสลวาปี (ศรีคัทธมาส ลูกคำ) และนางหา ลูกคำ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๑๑ คน เป็นชาย ๕ คน และหญิง ๖ คน ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ หลังฤดูกาลออกพรรษาเดือนพฤศจิกายน ขึ้น ๑๕ ค่ำ มีพระธุดงค์กรรมฐานมาพักใต้ร่มไม้ในป่าช้าบ้านยางเดี่ยว ๔ รูป สามเณร ๕ รูป ตาผ้าขาว ๒ คน มีพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นหัวหน้าคณะ ท่านได้ฟังเทศน์จากพระอาจารย์มหาปิ่น ทำให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก ในขณะนั้นท่านอายุได้ ๑๙ ปี รับราชการเป็นครูใหญ่ โรงเรียนประชาบาลตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ อายุ ๒๑ ปี ได้ออกบวชเป็นคณะสงฆ์ ฝ่ายมหานิกาย บวชได้ ๔ เดือนก็ลาสิกขา เข้ารับราชการเป็นนายทหาร
ปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้รับเลื่อนยศเป็นสิบเอก ทุกวันหยุดราชการได้เดินทางไปฟังธรรมจากพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ที่วัดป่าสาลวัน และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญพโล และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าศรัทธารวม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จนสามารถรวมจิตเป็นหนึ่ง ยกจิตขึ้นมาพิจารณาอสุภะกรรมฐานเป็นที่น่าเบื่อหน่ายในกายสังขาร จึงตัดสินใจลาออกจากราชการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยความเลื่อมใส อุปสมบทครั้งที่ ๒ ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ อายุได้ ๒๙ ปี ณ วัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพระโพธิวงศาจารย์ (สังข์ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาสุทัศน์ สุทสฺสโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
            เมื่อบวชแล้วไปศึกษาธรรมกับพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จากนั้นท่านธุดงค์ไปจำพรรษาตามถ้ำและป่าเขาในจังหวัดต่างๆ ปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ อายุ ๓๙ ปี พรรษา ๑๐จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
            ในวันพระปาฏิโมกข์วันหนึ่ง ท่านนั่งคิดคนเดียวว่าอยากจะลงสวดปาฏิโมกข์ ในวันอุโบสถ พอถึงเวลาลงอุโบสถ หลวงตามหาบัวกำลังจะขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ ท่านพระอาจารย์มั่นรีบพูดขึ้นว่า "เดี๋ยวก่อนท่านมหา(บัว) วันนี้พักก่อน เห็นท่านผั่นอยากสวดปาฏิโมกข์อยู่พอดี ให้ท่านผั่นสวดแทนก็แล้วกัน" หลวงปู่มั่นรู้วาระจิตที่คิดเช่นนั้น ท่านแทบล้มสลบไปต่อหน้า เหงื่อซึมไหลไปทั้งตัว มึนชาไปหมด นี่คือความมหัศจรรย์ในวาระจิตของท่านพระอาจารย์มั่น ถ้าเราคิดดีก็ดีไป แต่ถ้าคิดไม่ดีนี่สิ ย่อมอยู่กับท่านไม่ได้ เพราะท่านรู้หมดทุกอย่าง ท่านได้ศึกษาวัตรปฏิบัติ และอุบายธรรมในสำนักของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นที่เข้าใจสมประสงค์แล้วเมื่อท่านจะออก
ไปทำความเพียรเฉพาะตน ท่านได้ตั้งเจตนาของท่านไว้ ๙ ข้อ ดังนี้
๑.จะไม่ไปคลุกคลีหมู่คณะอีก นอกเสียจากสามเณรที่ติดตามท่านมาแต่ไหนแต่ไรมา ๒ รูป
๒. จะไปเลือกหาสถานที่ ที่เห็นว่าเหมาะพอสะดวกในการทำความเพียรได้แล้ว จะอยู่เป็นที่ ไม่เที่ยวเตร็ดเตร่
๓. จะพยายามใช้สติปัฏฐานให้มาก พิจารณากายคตาสติแต่อย่างเดียว ให้เป็น เอกายโน มคฺโค วิสุทฺธิยา
๔. การเทศนาแก่สานุศิษย์ และพุทธบริษัทภายนอกจะให้มีน้อยที่สุด
๕. คุณวิเศษจะไม่เกิดขึ้นในจิตโดยเร็วพลัน ทันความประสงค์ของตนสักปานใดก็ตาม จะถือเอาความสงบสงัด วิเวกกาย วิเวกวาจาเป็นหลัก
๖. เท่าที่ศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พอควรแก่การอบรมย่อมเป็นแนวทางจะฝึกตนดำเนินตนไปข้างหน้าได้แล้ว ไม่ต้องได้ยินได้ฟังอีก ก็พอจะเป็นไปบ้างแล้ว เว้นเสียแต่จะเกิดวิจิกิจฉาลังเลขึ้นภายหลังอีก จึงจะไปศึกษากราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตอีก
๗. จะเที่ยวเลือกหาสถานที่ทำความเพียร ที่ไม่ห่างไกลจากท่านพระอาจารย์มั่นจนเกินไป สถานที่ที่ได้เลือกคือบ้านหนองมะโฮง ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ระยะทางจากวัดป่าหนองผือ ประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร เท่านั้นและจำพรรษาที่นี่ ๑ พรรษา
๘. ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆซึ่งศึกษาอบรมมาจะพยายามทำให้เป็นเนืองนิจ สม่ำเสมอ ไม่ให้ลุ่มๆดอนๆ ให้คงเส้นคงวา เป็นบรรทัดฐานตั้งอยู่ ถึงแม้จะเสื่อมถอยไป โดยอนุโลมสานุศิษย์หรือ ญาติโยมและกิเลสของตนเหล่านี้ให้มีน้อยครั้งที่สุด
๙. ถ้าเห็นสำนักใดหรือหมู่คณะใดประพฤติเลวทรามกว่าตน เจตนาจะไม่เพ่งโทษ สำนักใดหรือใครเป็นอันขาด
            ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ กำนันโทน ลูกคำ ซึ่งเป็นพี่ชาย ได้นิมนต์ให้กลับมาโปรดญาติโยม ในถิ่นเกิดท่านพักภาวนาที่เสนาสนะป่าแห่งหนึ่ง ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ขณะที่ท่านพักจำพรรษา มีแสงสว่างสุกใสพวยพุ่งขึ้นมาจากทางด้านทิศตะวันตก เป็นอย่างนี้ตลอดพรรษา ด้วยบุพพนิมิตแห่งเทพบันดาล แนะนำสถานที่อันเป็นมหามงคล ท่านจึงสร้าง “วัดป่าหนองไคร้” บ้านหนองทองหลาง ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
            ปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ ท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่หน้าตักกว้าง ๔ เมตร สูง ๕ เมตร (วัดจากฐาน ๗ เมตร) เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังไหว้และเพื่อจะได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับจากท่านพ่อลี กับอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านมีอยู่มาก (ท่านรับแต่งตั้งให้เป็นพระผู้มีหน้าที่ลงไปเก็บอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์มั่น จึงได้รับส่วนแบ่งมามาก) เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร ได้ประทานนามพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้ว่า "พระพิชิตมาร" โดยได้บรรจะพระบรมสารีริกธาตุที่พระเศียร และพระธาตุท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จำนวนหลายร้อยองค์ ประมาณครึ่งแก้วไว้ที่พระนาภี(สะดือ) ในงานคราวนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
            ท่านบรรลุอุดมธรรมขั้นสูงสุดที่วัดป่าหนองหัวเสือ บ้านโต่งโต้น ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ก่อนมรณภาพเพียง ๕ เดือน มรณภาพเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ที่โรงพยาบบาลยโสธร สิริอายุ ๗๙ ปี ๑๐ เดือน ๔๙ พรรษา.

จากหนังสือ พระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์
วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ



พระอริยสงฆ์ และพระครูบาอาจารย์

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโร article
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต article
หลวงปู่ประสาร สุมโน



Copyright © 2008-2012 All Rights Reserved. VORAVITCH SINGHANART voravitch@hotmail.com Phone 085-1122-422
ขออานุภาพแห่งองค์พระรัตนตรัย อำนวยให้สาธุชนทุกท่านผู้เข้าชมเวปไซต์ มีสติ มีความคิดและมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ดีงาม มีความเจริญก้าวหน้าในพระธรรมอันสูงสุด ยิ่งยิ่งขึ้นไป วรวิชญ์ สิงหนาท