google-site-verification: googleb7f6cb2897a693e4.html BuddhaMetta ทาน ศิล สมาธิภาวนา สร้างสมบุญกุศลบารมี นิพพาน
ReadyPlanet.com
dot
dot
ธรรมะ/บทความ
dot
bulletอุทิศบุญกุศล แผ่เมตตา
bulletการสร้างบุญบารมี
bulletสมาธิ ภาวนา
dot
ฝากที่อยู่ไว้ เราจะติดต่อ,ส่งข้อมูลกลับ

dot
dot
วัดอรุณราชวราราม
dot
bulletศาลาปฏิบัติธรรม
dot
วัดหนองไคร้
dot
bulletสมทบทุนสร้างพระเจดีย์พุทธเมตตามหามงคล
bulletเสียงบรรยายธรรม หลวงปู่ประสาร สุมโน
bulletถวายพระพรในหลวง


ความรู้เกี่ยวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงค์
ข้อมูลพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม
ฐานข้อมูล ชีวิต และผลงานท่านพุทธทาสภิกขุ
นานาสาระ


อนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ณ บ้านคำบง article

อนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ณ วัดศรีบุญเรือง (วัดบ้านคำบง) บ้านคำบง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี

อนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ณ บ้านคำบง เป็นบ้านเดิมของหลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดบ้านคำบง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีบุญเรือง เป็นวัดที่หลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสนากัมฐาน เคยได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๒ ปี เป็นวัดเก่าแก่ อาจารย์ไขศรี ตันศิริ  และศิษยานุศิษย์ผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันปรับปรุงทำนุบำรุงวัดเรื่อยมา อาทิการปรับปรุงสภาพโบสถ์เดิมที่หลวงปู่เคยอุปสมบทให้อ ยู่ในสภาพที่ดี  อาจารย์ไขศรีได้ออกแบบอาคารอนุสรณ์สถาน หลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต ตลอดจนจัดหาทุนในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จสวยงาม  ผนังภายในประดับภาพเซรามิคนูนต่ำ ภายในอนุสรณ์สถานบรรจุ พระอัฐิธาตุ และหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่มั่น  เพื่อพุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ได้กราบเคารพบูชาครูอาจารย์
 
 BuddhaMetta
1. อนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
            เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2547  หลังจากที่ดิฉันและคณะเดินทางกลับจากการไปนมัสการมงคลสถาน ณ แค้วนจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และในวันรุ่งขึ้นก็จะเดินทางกลับกรุงเทพฯนั้น   ขณะรับประทานอาหารเย็นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีคุณถนอม มารัตน์ อดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเกษียณอายุและกลับมาอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ มาร่วมด้วยได้ถามดิฉันว่า พรุ่งนี้พี่ไขศรีจะกลับเครื่องบินเที่ยวไหน ดิฉันตอบว่า คณะกลับเที่ยวเช้า แต่ดิฉันและคุณประชาจะไปหาบ้านเกิดของหลวงปู่มั่นที่บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ คุณถนอมจึงได้จัดรถให้พาเราไป โดยคณะขอติดตามไปด้วย 5-6คน นับเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่ได้ดลใจให้คุณประชาเลื่อนกำหนดกลับกรุงเทพฯอย่างกะทันหันโดยไม่มีผู้ใดทราบมาก่อน และนี่คือที่มาของสิ่งต่างๆที่ได้เกิดขึ้นในวัดศรีบุญเรือง ณ บ้านเกิดของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในเวลาต่อมา ผู้ที่ได้รับอานิสงส์อย่างเต็มที่คือคุณถนอม มารัตน์ ที่พวกเราขอขอบพระคุณอย่างยิ่งในความเอื้อเฟื้อครั้งนี้ของท่าน
            เมื่อไปถึง พวกเราได้พบว่าชาวบ้านคำบง ได้อนุรักษ์สถานที่ที่เคยเป็นบ้านเกิดของท่าน โดยสร้างหลังคาคลุมเสาไว้ มีรูปถ่ายขนาดใหญ่ในท่ายืนของท่านตั้งอยู่ด้วย ทุกคนที่ไปเกิดความประทับใจเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นเราได้ข้ามถนนไปที่วัดศรีบุญเรือง เพื่อไปชมโบสถ์ที่หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นร่วมกันสร้างไว้ เป็นโบสถ์ขนาดเล็กที่มีสัดส่วนสวยงาม พร้อมทั้งมีพระพุทธรูปองค์เล็กๆที่ท่านพระอาจารย์ทั้งสองได้สร้างไว้อยู่ด้วย ท่านเจ้าอาวาสได้นำคณะเราไปกราบรูปหลวงปู่มั่นบนศาลา ซึ่งทรุดโทรมทั้งหลัง ดิฉันรู้สึกหดหู่และสลดใจมาก จึงได้ถามพระศรีดล จันทสาโรช เจ้าอาวาสในขณะนั้นว่า “ศาลานี้ไม่มีการซ่อมแซมเลยหรือ” ท่านตอบว่า “กำลังจะสร้างมณฑปถวายหลวงปู่ใหม่” และเอาแบบมาให้ดู พร้อมทั้งบอกว่า อาคารนี้ผู้รับเหมาคิดค่าก่อสร้าง 700,000บาท ขณะนี้ทางวัดมีเงินอยู่ 200,000บาท ส่วนที่เหลืออีก 500,000บาท ก็จะก่อสร้างให้เสร็จในเวลา 7ปี ตามระยะเวลาที่ทางวัดจะหามาได้
พวกเราได้ฟังก็ได้แต่มองหน้ากัน ดิฉันได้เรียนท่านว่า อาคารตามแบบที่จะสร้างขึ้นนี้มีทรงสูงมากคล้ายเมรุเผาศพ นาทีนั้นดิฉันได้รับการดลใจเช่นเดียวกับคุณประชา จึงพูดขึ้นว่า พวกเราจะเป็นผู้สร้างให้ โดยจะออกแบบให้ใหม่ และให้วัดนำเงิน 200,000บาท ที่มีอยู่นั้นมาสมทบเป็นค่าก่อสร้างด้วย ดิฉันจึงกลับมาทำแบบใหม่ และนำไปให้ทางวัดและชาวบ้านดู ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นด้วยและให้ดำเนินการได้
            เมื่อกลับจากวัดศรีบุญเรือง ก็เริ่มรวบรวมปัจจัยขั้นแรกจากผู้มีจิตศรัทธา 8คน ได้ปัจจัยทั้งหมด 1,098,922บาท จึงให้เริ่มก่อสร้างทันที ด้วยความมั่นใจว่าจะสามารถหาปัจจัยมาก่อสร้างจนแล้วเสร็จได้ โดยมีนายสุกิจ พลังธนสุกิจเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง นายสุกิจ เคยเป็นผู้ก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร” ของหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร มาแล้ว
ผู้บริจาคทั้ง 8 คน คือ
1.      นายแพทย์สมชาติ จ่างจิต                           200,000บาท (รูปเหมือน)
2.      นายธเนศร์ เอียสกุล                                  150,000บาท
3.      นายประชา-นางไขศรี ตันศิริ                       150,000บาท
4.      นายวุฒิชัย ฐิติวัฒนพงษ์                             150,000บาท
5.      นายสุกิจ-นางพรจิต พลังธนสุกิจ                 128,922บาท
6.      นางวรนิต ตันติวงศ์                                   110,000บาท
7.      นายอุดม-นางเกสร สิทธิภู่ประเสริฐ              110,000บาท
8.      นางภคินี พูลสวัสดิ์                                   100,000บาท
            วันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2547 ได้มีพิธีลงเสามงคลอาคารอนุสรณ์สถานนี้ การก่อสร้างดำเนินการเรื่อยมาใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 11เดือน ก็แล้วเสร็จ ได้มีการฉลองกันในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2548 ท่ามกลางความปิติยินดีอย่างยิ่งของคณะเราและพี่น้องชาวบ้านคำบง อาคารนี้สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิน 1,930,000บาท (ราคาที่ปรากฏในแผ่นจารึกภายในอนุสรณ์สถาน เป็นเงิน 1,700,000บาท นั้น ได้เพิ่มเติมอีก 230,000บาท ตามที่ผู้รับเหมาแจ้งมาภายหลัง) ส่วนเงิน 200,000บาท ของทางวัดไม่ได้นำมาสมทบ เพราะได้นำไปสร้างโรงครัวแล้ว ขณะนี้ยังมีเงินเหลืออีก 46,057บาท รวบรวมไว้เพื่อจัดทำสิ่งที่จำเป็นต่อไป
            อนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ขนาดกว้าง 6.80 เมตร ยาว 9.50 เมตร มีระเบียงพร้อมที่นั่ง 3ด้าน สูงจากพื้น 1.25 เมตร มีบันไดด้านหน้า ภายในห้องกระจก ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่มั่นบนแท่นบุหินอ่อน ผนังด้านหลังบุด้วยเซรามิคเผาไฟแรงสูง เป็นภาพป่าและแม่น้ำโขง เบื้องหน้าวางอัฐิธาตุของท่าน มีประตู 3ด้าน เสาและหัวเสาบุด้วยกระเบื้องดินเผาไฟแรงสูง พื้นบุด้วยหินแกรนิต ระเบียงและบันไดบุด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาโครงเหล็กมุงด้วยกระเบื้องโมเนีย ที่หน้าจั่วด้านนอกอาคารมีภาพหลวงปู่มั่นนั่งอยู่ที่ยอดเขาหมู่บ้านมูเซอ เป็นเซรามิคเผาไฟแรงสูงทนแดดทนฝนได้
BuddhaMetta
2. การซื้อที่ดินขยายบริเวณวัด
เมื่อได้ก่อสร้างอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว เห็นว่า ด้านหลังของอาคารติดกับที่ของชาวบ้านเพราะวัดมีเนื้อที่ไม่มาก จึงได้สอบถามเจ้าของซึ่งมีอยู่ 1ไร่ ได้ความว่าจะขายในราคา 100,000บาท จึงได้ตกลงซื้อ และได้แจ้งให้คณะที่เรากำลังเดินทางกลับจากการมาถวายอนุสรณ์สถานทราบ ได้เก็บเงินกันบนรถบัส รวมทั้งผู้ที่ทราบข่าวก็ช่วยกันบริจาคมาอีก รวมแล้วได้เงินทั้งสิ้น 167,971บาท เมื่อจ่ายค่าที่ดินและหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว คงเหลือ 50,390บาท ซึ่งได้รวบรวมไว้ใช้ต่อไป
BuddhaMetta 
3. การก่อสร้างศาลาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ที่มาของการก่อสร้างศาลาหลวงปู่มั่นนี้ เกิดขึ้นในขณะที่การก่อสร้างอนุสรณ์สถานใกล้จะแล้วเสร็จ โดยดิฉันได้พูดกับคุณประชาว่า ศาลาหลังนี้เป็นที่มาให้เกิดการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน (ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 1) แล้วเราจะปล่อยให้ศาลาที่ทรุดโทรมสร้างมาแล้วถึง 70ปี อยู่ในสภาพเช่นนี้หรือ ในเมื่อขณะนี้ วัดได้มีอาคารอนุสรณ์สถานและโบสถ์ที่สวยงามเรียบร้อยตั้งอยู่ และศาลาหลังนี้จะทำให้ภูมิทัศน์ของวัดไม่สวยงาม คุณประชาบอกว่า เราต้องช่วยกันสร้างให้ใหม่ แม้จะต้องใช้เวลานานในการหาปัจจัย แต่ก็มั่นใจว่าจะต้องทำสำเร็จ เพราะเราตั้งใจทำถวายหลวงปู่มั่น
ดังนั้น หลังจากที่ได้มีพิธีถวาย อนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2548 เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ตกลงกับคุณประชาว่า เราควรทิ้งเวลาไว้ประมาณ 2ปี ค่อยเริ่มโครงการก่อสร้างศาลา โดยได้จัดหาปัจจัย 3ครั้ง ดังนี้
            ครั้งที่ 1 ทอดผ้าป่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2551 ได้ปัจจัยทั้งสิ้น 791,713บาท ทำให้สามารถ
                         เริ่มก่อสร้างได้
            ครั้งที่ 2 ทอดกฐิน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2551 ได้ปัจจัย 418,951บาท 
            ครั้งที่ 3 ทอดกฐิน วันนี้ วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2552 เป็นการทอดกฐินครั้งสุดท้าย เพื่อให้การ
                         ก่อสร้างศาลา   แล้วเสร็จ พร้อมทั้งจัดสิ่งแวดล้อมในวัดให้เรียบร้อย รวมใช้เวลาทั่งสิ้น
                         ประมาณ 21เดือน
            ศาลาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นศาลาคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว  สูงจากพื้นดิน 80 เซนติเมตร ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร แบ่งช่วงเสา 5ช่วงๆละ 4 เมตร หลังคาโครงเหล็กมุงกระเบื้อง มีชายคายื่นยาวป้องกันแดดฝน ผนังด้านหลังตกแต่งด้วยเซรามิคเผาไฟแรงสูง เป็นภาพต้นโพธิ์ใหญ่ริมแม่น้ำ พื้นศาลาปูกระเบื้อง ลูกกรงโดยรอบเป็นไม้สักฉลุลาย   มีบันได 3ด้าน ปูทางเท้าโดยรอบด้วยบล็อกตัวหนอน เป็นศาลาโล่งโปร่งสำหรับปฏิบัติธรรมและประกอบศาสนกิจได้อย่างสะดวกสบาย
BuddhaMetta
            เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการก่อสร้างอาคารอนุสรณ์สถาน และศาลาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นั้นเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เหมือนกับมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดลใจ เช่น
            1…ได้พาคณะไปเที่ยวจำปาศักดิ์ประมาณ 20กว่าคน ซึ่งออกไปทางช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อถึงกำหนดกลับกรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น คุณประชาก็ตัดสินใจไม่กลับกรุงเทพฯกับคณะ แต่จะเดินทางไปบ้านคำบง เพื่อสืบหาบ้านเกิดหลวงปู่มั่น ทั้งๆที่ยังไม่เคยไป แต่ก็ได้รับความเอื้อเฟื้อในเรื่องพาหนะและคนขับจากท่านผู้ใหญ่ที่จังหวัดอุบลฯท่านหนึ่ง
            2…ดิฉันเกิดความหดหู่และสลดใจอย่างยิ่งเมื่อขึ้นไปกราบรูปหลวงปู่มั่น ที่ตั้งอยู่บนศาลาที่ทรุดโทรมอย่างมากในวัดศรีบุญเรือง ตรงข้ามกับบ้านหลวงปู่มั่น เมื่อซักถามเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับศาลาแล้ว ก็ทำให้เป็นที่มาของอนุสรณ์สถานขึ้น โดยที่ไม่คาดคิดมาก่อนเลย
            3…สิ่งที่เหลือเชื่ออีกอย่างหนึ่งก็คือ ดิฉันเคยเป็นผู้ออกแบบ “พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร” ของหลวงปู่มั่น ที่วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อปีพ.ศ.2516  เป็นงานออกแบบงานแรกในชีวิต ให้แก่พ่อแม่ ครูอาจารย์  สายหลวงปู่มั่น และจำต้องเป็นผู้ออกแบบ อนุสรณ์สถานของหลวงปู่มั่น ในปีพ.ศ.2547  ที่บ้านเกิดของท่านอีก ไม่น่าเชื่อเลยว่า สถานที่เช่นนี้ยังเหลืออยู่โดยไม่มีผู้ใดจัดสร้าง นับเป็นการเจาะจงให้ดิฉันเป็นผู้ทำ   ทั้งที่ระยะเวลาห่างจากการออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารของท่านที่จังหวัดสกลนครถึง 31ปี
            4…ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน การก่อสร้างศาลา และการซื้อที่ดินถวายวัด ทั้ง 3รายการนี้ เป็นปาฏิหาริย์ที่หลวงปู่มั่น ได้ให้โอกาสแก่คณะเราและชาวบ้านคำบงได้ทำบุญทำกุศลถวาย ท่านจึงได้บันดาลให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่พวกเราและชาวบ้านคำบงสามารถจัดทำกันได้สำเร็จด้วยเวลาไม่นานนัก
            อาคารอนุสรณ์สถานและศาลาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า ที่ได้ก่อสร้างในสถานที่ที่เป็นมงคล เป็นแหล่งกำเนิดของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ที่มีผู้เคารพเลื่อมใสศรัทธาทั่วประเทศ นับเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง ที่พวกเราและชาวบ้านคำบงได้มีโอกาสจัดทำขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการเชิดชูพระคุณของหลวงปู่มั่น ที่มีต่อเราชาวพุทธโดยทั่วไปแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวบ้านคำบงและวัดศรีบุญเรืองด้วย โดยในปัจจุบันมีท่านอธิการหวา ญาณวโร เป็นเจ้าอาวาส (อายุ 62ปี 10พรรษา) ขอให้ท่านเจ้าอาวาสและพี่น้องช่วยกันดูแลรักษาสถานที่แห่งนี้ให้อยู่ในสภาพที่น่าเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้ที่รัก เคารพ สักการะ หลวงปู่มั่น สืบไป
            ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย ตลอดจนสิ่งศักดิ์ทั้งหลาย บารมีของหลวงปู่มั่น จงดลบันดาลให้ท่านและครอบครัว ประสบแต่ความสุข ความเจริญ ความมีโชคดี และเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป 
หมายเหตุ วัดศรีบุญเรือง คือ วัดบ้านคำบง ที่กล่าวอยู่ในประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ไขศรี ตันศิริ
คัดจากหนังสือที่ระลึก งานทอดกฐิน และฉลองศาลาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
วัดศรีบุญเรือง ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2552
 
ผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญเพื่อทำนุบำรุงอนุสรณ์สถานและบริเวณโดยรอบ ถวายเป็นวิหารทาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
 
วัดศรีบุญเรือง
อาจารย์ไขศรี ตันศิริ ๐๘๑-๔๙๖-๓๓๐๑
 

 




สักการะสถานที่สำคัญ

ศาลาปฏิบัติธรรม วัดอรุณราชวราราม
ศาลาปฏิบัติธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโท ณ บ้านคำบง article
ร่วมสร้างมหาเจดีย์เก้ายอด article



Copyright © 2008-2012 All Rights Reserved. VORAVITCH SINGHANART voravitch@hotmail.com Phone 085-1122-422
ขออานุภาพแห่งองค์พระรัตนตรัย อำนวยให้สาธุชนทุกท่านผู้เข้าชมเวปไซต์ มีสติ มีความคิดและมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ดีงาม มีความเจริญก้าวหน้าในพระธรรมอันสูงสุด ยิ่งยิ่งขึ้นไป วรวิชญ์ สิงหนาท